อาการที่พบหลังผ่าตัดขากรรไกร และ ข้อแนะนำ หลังผ่าตัดขากรรไกร
การผ่าตัดขากรรไกร เป็นวิธีการรักษาเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและใบหน้า แก้ไขปัญหาการสบฟันผิดปกติ โดยในขณะผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว เพราะต้องผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสัญญีแพทย์ที่มีประสบการณ์ และแพทย์จะให้ยาระงับปวดระหว่างทำการผ่าตัดผ่านทางสายน้ำเกลือเพื่อระงับการปวดหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัด บางท่านก็รู้สึกปวดมาก บางท่านรู้สึกปวดน้อย เพราะความอดทนต่อความเจ็บปวดของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทั้งนี้ หลังผ่าตัดอาจจะมีอาการเคียงข้างอะไรบ้าง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องพบทันตแพทย์บ่อยแค่ไหน มาดูกันเลย
อาการที่พบภายหลังการผ่าตัดขากรรไกรมีอะไรบ้าง
หลังการผ่าตัดขากรรไกรจะทำให้เกิดอาการปวดและบวมได้ โดยจะบวมมากในช่วง 3 วันแรก และจะดีขึ้นภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาบรรเทาอาการปวดที่ทันตแพทย์จ่ายให้ก่อนกลับบ้าน อาการชาหลังการผ่าตัดขากรรไกรบนสามารถพบได้ที่บริเวณริมฝีปากบน แก้ม และปีกจมูก ส่วนการผ่าตัดขากรรไกรล่างสามารถทำให้ริมฝีปากล่าง คาง หรือลิ้นชาได้ โดยส่วนใหญ่อาการชาที่พบจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
หลังการผ่าตัดขากรรไกรรับประทานอาหารอะไรได้บ้าง
หลังการผ่าตัดขากรรไกร ผู้ป่วยจะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2-5 วัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีเฝือกสบฟัน (splint) ติดอยู่ที่ฟันบน และทันตแพทย์จะเอา splint ออกเมื่อครบ 2-4 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ในผู้ป่วยบางรายทันตแพทย์อาจจำเป็นจะต้องใช้หนังยาง (elastics) หรือลวดมัดฟันเพื่อยึดฟันบนและล่างไว้ด้วยกัน ซึ่งในช่วงนี้ผู้ป่วยจะต้องดื่มน้ำและรับประทานอาหารชนิดเหลวผ่านทางกระบอกฉีดยา เมื่อทันตแพทย์เอา splint และหนังยางหรือลวดมัดฟันออก ผู้ป่วยจะเริ่มเคลื่อนไหวขากรรไกรบนและล่างได้ และเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจะต้องเริ่มฝึกอ้าปากเพื่อให้สามารถกลับมาอ้าได้ใกล้เคียงกับระยะเดิมก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ๆ โดยไม่ลงแรงบดเคี้ยวอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังการผ่าตัด
ข้อควรปฏิบัติสำหรับการกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านหลังได้รับการผ่าตัดขากรรไกร
1. การรับประทานยาควรรับประทานยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดและครบถ้วน ห้ามหยุดยา/เพิ่มหรือลดขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
2. การรับประทานอาหาร ช่วงที่ผู้ป่วยยังมีเฝือกสบฟัน (splint) อยู่ในช่องปาก จะต้องดื่มน้ำและรับประทานอาหารชนิดเหลวผ่านทางกระบอกฉีดยา เมื่อทันตแพทย์เอา splint ออกแล้ว ให้รับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ตุ๋น โดยไม่ลงแรงบดเคี้ยวอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังการผ่าตัดหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์
3. กิจวัตรประจำวันสามารถทำได้ตามปกติ 1 – 2 สัปดาห์แรก แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้แรงหนัก เช่น ยกของ วิ่ง เนื่องจากร่างกายมีการสูญเสียเลือด หลังจากสัปดาห์ที่ 2 สามารถออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อได้ หลังจาก 4 เดือนเป็นต้นไป สามารถออกกำลังกายแบบแอโรบิค วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำได้ แต่ควรหลีกลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล หรือ กีฬาโลดโผน
4. การนอนหลับควรนอนศีรษะสูง 30 องศา ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ยุบบวมเร็วขึ้น
5. ไหมเย็บในช่องปาก บางครั้งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่ายังมีไหมเย็บอยู่ในช่องปาก ไหมดังกล่าวทันตแพทย์จะนัดมาตัดไหมในช่วง 2-6 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
6. การประคบเย็น ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมประมาณ 3 – 4 วันแรกหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นประคบร้อนหรืออุ่นต่อเนื่องอีก 2 – 3 วัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. การรักษาความสะอาดในช่องปาก ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเริ่มแปรงฟันได้หลังการผ่าตัดในวันที่ 2 โดยใช้แปรงสีฟันขนาดเล็กขนนิ่มสำหรับเด็ก ควรแปรงฟันอย่างนุ่มนวลและระมัดระวัง อาจใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากร่วมด้วย
8. การขับเสมหะและการจาม ควรหลีกเลี่ยงการขับเสมหะและจามที่รุนแรง หลีกเลี่ยงการเอามือล้วงเข้าไปในช่องปากและเขี่ยแผลเล่น เพราะอาจทำให้แผลเปิด ฉีกขาดและมีเลือดออกจากแผลได้ หากมีเลือดออกในช่องปากให้นอนยกศีรษะสูง ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือ cold Pack บริเวณขากรรไกรและคอ
9. การสังเกตภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการผิดปกติที่รุนแรงให้รีบแจ้งทันตแพทย์ทันที
การนัด follow up หลังออกจากโรงพยาบาล
ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาภายหลังการผ่าตัดขากรรไกรเป็นระยะ ๆ โดยจะทำการตรวจใบหน้า การตรวจภายในช่องปาก การตัดไหมเย็บแผล และการตรวจผ่านทางภาพรังสีสามมิติ CBCT
การนัด follow up จะถี่ในช่วงแรกจนเหลือปีละ 1 ครั้ง โดยทั่วไปจะนัดหลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และนัดหลังจากนั้นปีละครั้งจนครบ 5 ปี
การตัดไหม โดยทั่วไปจะตัดไหมในช่วง 2-6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระยะอ้าปากของผู้ป่วย
การส่งถ่ายภาพรังสีสามมิติ CBCT จะทำหลังผ่าตัด 1 วัน 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ปี และนัดหลังจากนั้นปีละครั้งจนครบ 5 ปี
การผ่าตัดเอาแผ่นดามกระดูกและสกรูออก ในผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดเอาแผ่นดามกระดูกและสกรูออก จะทำในช่วง 1 ปี หลังผ่าตัดขากรรไกร หากมีแผ่นดามกระดูกและสกรูในขากรรไกรล่าง สามารถเอาออกภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ แต่หากมีแผ่นดามกระดูกและสกรูในขากรรไกรบน มักจะแนะนำให้ผ่าตัดเอาออกภายใต้การดมยาสลบ