Periodontics

ทันตกรรมปริทันต์

โรคปริทันต์ เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะรอบตัวฟันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน การทำลายอวัยวะรอบตัวฟันดังกล่าว หากมีการสูญเสียไปแล้วจะเป็นการสูญเสียที่ถาวรไม่สามารถกลับคืนมาได้ ซึ่งหากสูญเสียสิ่งที่ยึดจับตัวฟันไปแล้ว ฟันก็จะไม่สามารถอยู่ในช่องปากได้อย่างแข็งแรง อาจมีการโยก หรือต้องถอนฟันไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดเลย

การทำลายของอวัยวะปริทันต์มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว  จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพออายุมาก จึงมักพบกับปัญหาฟันโยกเป็นหนอง และต้องมาถอนฟัน ใส่ฟันปลอมทดแทน 

อาการของเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์

  • เหงือกมีสีแดง บวม เหงือกไม่รัดแน่นคอฟันและเลือดออกง่าย (เหงือกปกติควรมีสีชมพูซีด รัดแน่นคอฟัน และแปรงฟันเลือดไม่ออก)
  • อาจเห็นตัวฟันยาวมากกว่าเดิมเพราะมีเหงือกร่น
  • มีฟันโยก
  • มีกลิ่นปาก
  • มีอาการไม่สบายปาก ระคายเคืองเหงือก หรือมีอาการปวดรำคาญ
  • หากเป็นมากมีร่องเหงือกลึก อาจมีหนองที่เหงือกเป็นๆ หายๆ ได้

ระดับความรุนแรงของโรคเหงือก

เหงือกปกติ : เหงือกปกติจะมีลักษณะแน่น ขอบบางแนบกับคอฟัน มีสีชมพูอ่อนหรือสีคล้ำตามสีผิว ปกคลุมถึงคอฟัน และมีร่องฟันตื้น ๆ โดยรอบลึกประมาณ 1-2 มิลลิเมตร

โรคเหงือกอักเสบ : อาการอักเสบของเหงือกที่เกิดจากคราบแบคทีเรียสะสมตามร่องเหงือกนี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเหงือก  อาจมีการเลือดออกขณะแปรงฟันหรือขัดฟัน ในระยะเริ่มแรกนี้ สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากกระดูกและเนื้อเยื่อยังไม่ถูกทำลาย

โรคปริทันต์ : ในระยะนี้ กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว ร่องเหงือกจะกลายเป็นโพรงที่เศษอาหารและหินปูนจะเข้ามาสะสม การรักษาและการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสียหายได้

โรคปริทนต์ขั้นรุนแรง : ในระยะสุดท้ายนี้ กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว และทำให้ฟันโยก ซึ่งจะส่งผลต่อการเคี้ยว ถ้าไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที อาจจะต้องถอนฟันในที่สุด

จะป้องกันโรคปริทันต์ได้อย่างไรบ้าง 
เนื่องจากสาเหตุหลักของโรคคือ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เกาะอยู่บนตัวฟัน เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ
- การดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันด้วยการแปรงฟัน
- ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
- หมั่นเข้าไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี

^