ขูดหินปูน และ เกลารากฟัน ต่างกันอย่างไร
เชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยว่าเมื่อมีหินปูนต้อง ‘ขูดหินปูน’ หรือต้อง ‘เกลารากฟัน’ ร่วมด้วย แล้วเกลารากฟันมันคืออะไร ? เรามีคำตอบมาไขข้อข้องใจให้กับทุกคน ใครอยากรู้จักการขูดหินปูน และการเกลารากฟันให้มากขึ้นตามมาอ่านกันค่ะ
กำจัดหากคราบจุลินทรีย์และคราบหินปูนด้วยการขูดหินปูน
การขูดหินปูนนั้นคือการกำจัดหินปูนที่สะสมเหนือเหงือกและใต้เหงือกลงไปเล็กน้อย ปกติจะไม่ต้องฉีดยาชา เพราะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก แต่อาจจะรู้สึกเสียวฟันและเจ็บเล็กน้อยที่เหงือกซึ่งผู้ป่วยมักจะทนได้
การขูดหินปูน เหมาะกับใคร ?
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสภาวะเหงือกอักเสบ ซึ่งการอักเสบนั้นเกิดบริเวณเหงือกอย่างเดียว ยังไม่ทำอันตรายต่อ อวัยวะปริทันต์อื่นๆ ได้แก่ เคลือบรากฟัน เอ็นยึดปริทันต์และ กระดูกเบ้าฟัน เวลาที่ใช้ในการขูดไม่นาน สามารถขูดหินปูนทั้งปากได้เสร็จในครั้งเดียว
รักษาโรคปริทันต์ด้วยการเกลารากฟัน
โรคปริทันต์อักเสบ มีความรุนแรงมากกว่าโรคเหงือกอักเสบ ต้องรักษาโดยการเกลารากฟัน โดยจะกำจัดหินปูน สิ่งสะสมบนผิวรากฟันและเนื้อเยื่ออักเสบที่อยู่ใต้เหงือกลึกๆ เป็นการใช้เครื่องมือปริทันต์ เกลากำจัดหินปูนที่อยู่ใต้เหงือก ส่วนใหญ่จะลึกมากกว่า 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งมักจะทำให้เกิดความเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการฉีดยาชา
ใครบ้าง ต้องเกลารากฟัน ?
การเกลารากฟันนั้นจะใช้รักษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ คือมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ ไม่ใช่เฉพาะที่เหงือกแต่ลุกลามไปถึงกระดูกเบ้าฟัน สามารถสังเกตได้คือ เหงือกมีการอักเสบ ร่วมกับการมีเหงือกร่น หรือมีฟันโยก หรือบางครั้งอาจมีฝีปริทันต์ร่วมด้วย หากไม่ได้รับการรักษา อาจจะต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด
เทียบกันชัด ๆ ว่า ‘การขูดหินปูน’ และ ‘การเกลารากฟัน’ แตกต่างกันอย่างไร
สุดท้ายแล้วมาเช็คกันค่ะ ว่าเรากำลังมีปัญหาโรคเหงือกที่รุนแรงอยู่หรือไม่
อาการ ที่เป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะกำลังเป็นโรคเหงือก
- ฟันโยก
- มีกลิ่นปาก
- เหงือกบวมแดง
- มีเลือดออกตามไรฟัน
- มีหนองตามร่องเหงือก
- เหงือกร่นทำให้เห็นฟันยาวขึ้นผิดปกติ
ถ้ามีอาการเหล่านี้ แนะนำว่าควรพบทันตแพทย์เฉพาะทางโรคเหงือก เพื่อเข้ารับการรักษาไม่ให้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่ต้องสูญเสียฟันไปนะคะ
ที่มา;
http://www.info.dent.nu.ac.th/