โรคปริทันต์…ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
“แค่แปรงฟันแล้วเลือดออก ไม่เป็นอะไรมากหรอก เดี๋ยวก็หาย” ประโยคนี้จะไม่มีทางหลุดออกมาจากปากเลย ถ้ารู้ว่าการที่มีเหงือกระบมหรือมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่ใช่เรื่องปกติหรือละเลยได้ เพราะอาจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังอาจจะเป็นโรคปริทันต์อยู่ หากเป็นแล้ว ไม่ได้รับการรักษา โรคปริทันต์ สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ร้ายแรง เช่น ทำให้สูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร มาดูกันค่ะ ว่าเรากำลังละเลย สัญญาณของโรคปริทันต์ที่กำลังเตือนเราอยู่รึเปล่า
เหงือก เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะปริทันต์ที่ทำหน้าที่ยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยว เหงือกปกติจะมีสีชมพู ขอบเรียบ ไม่บวม ไม่มีเลือดออก
โรคปริทันต์ หมายถึง โรคที่พบการอักเสบของอวัยวะปริทันต์ ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน
โรคปริทันต์ เกิดจากอะไร ?
เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์จำนวนหลายชนิด สำหรับหินน้ำลาย (หินปูน) นั้นเป็นปัจจัยเสริมโดยหินน้ำลายจะเป็นที่ยึดเกาะของคราบจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ เช่น การสูบบุหรี่ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
เนื่องจากโรคปริทันต์อักเสบ เป็นผลจากการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคในคราบจุลินทรีย์ ปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบสูงขึ้น โดยผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากถึง 2 เท่าของผู้ป่วยที่ไม่มีโรคนี้ และหากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี โอกาสที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบจะมากกว่าผู้ป่วยปกติถึง 11 เท่า เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ทั้งนี้หากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และลดหรือเลิกสูบบุหรี่โอกาสในการรักษาโรคปริทันต์ให้ได้ผลสำเร็จจะมีมากขึ้น
อาการของโรคปริทันต์
มีการทำลายของกระดูกเบ้าฟันและเนื้อเยื่อรอบรากฟัน ทำให้เหงือกบวมแดง มีเลือดออกตามขอบเหงือก และอาจมีหนอง เหงือกไม่กระชับกับรากฟันจนมีร่องเหงือกลึกขึ้นเรียกว่า ร่องลึกปริทันต์ หากมีการทำลายรุนแรงจะมีการโยกของฟันร่วมด้วย ลักษณะการอักเสบและความรุนแรงของโรคจะต่างกันไปในแต่ละบุคคล
การรักษาโรคปริทันต์
– การควบคุมอนามัยช่องปาก โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน เช่น ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน
– การขูดหินน้ำลาย และเกลารากฟัน โดยทันตแพทย์
– การกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ เช่น การงดสูบบุหรี่ การรักษาและควบคุมโรคเบาหวาน เป็นต้น
– การศัลยกรรมปริทันต์ เพื่อแก้ไขความผิดปกติของอวัยวะปริทันต์
การป้องกันโรคปริทันต์
การควบคุมอนามัยช่องปากโดยการแปรงฟันถูกวิธี ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปริทันต์ นอกจากนี้ควรพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ และดูแลสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน
ที่มา
- คณะทันตะแพทยศาสตร์ มหาลัยวิทยาลัยมหิดล https://bit.ly/2HtfUAe
- เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/periodontitis