ทำอย่างไรเมื่อมี..ฟันคุด

Share This :

 

ฟันคุด (Impacted tooth, Wisdom tooth)
คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาทางช่องปากได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะไม่ขึ้นมาเลยหรือขึ้นมานิดหน่อย ไม่เต็มซี่เนื่องจากมีฟันซี่อื่นมาขวางไว้ โดยส่วนมากมักจะเกิดกับฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Third molar) จนคนทั่วไปมักคิดว่าฟันคุดเกิดได้แต่กับฟันซี่นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วฟันคุดสามารถเกิดกับฟันซี่อื่นได้ด้วย เช่น ฟันเขี้ยว (Canine) ฟันกรามน้อย (Premolar) ต่อไปนี้คือคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ การผ่าฟันคุด 

Q : มีประจำเดือน สามารถผ่าฟันคุดได้หรือไม่ 
A : แม้ในช่วงมีประจำเดือนจะเสียเลือดไป แต่ในระหว่างที่ผ่าฟันคุดไม่ได้ทำให้เสียเลือดมากถึงขนาดที่จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จึงสามารถผ่าได้ปกติ

Q : จำเป็นต้องถอน หรือ ผ่าฟันคุด ก่อนจัดฟันหรือไม่ 
A : ขึ้นกับดุลยพินิจของทันตแพทย์จัดฟัน เพราะฟันคุดในบางกรณี ก็มีประโยชน์ในการช่วยจัดฟัน แต่ส่วนใหญ่ มักจะเอาฟันคุดออกก่อนจัดฟัน เพื่อไม่ให้เบียดพื้นที่ในการขยับฟัน

                                               

Q : วิธีสังเกตุฟันคุด ภายในช่องปากเบื้องต้น 
A  : ส่วนใหญ่จะเกิดกับฟันซี่สุดท้ายในช่องปาก ในช่วงอายุ 15-25 ปี ซึ่งอาจจะสังเกตเห็นมี ตุ่มขึ้นตรงด้านท้ายของเหงือก ฟันขึ้นมาไม่เต็มซี่ ฟันขึ้นเอียง เหงือกบวม เป็นต้น ทั้งนี้สามารถรับคำปรึกษาจากทันตแพทย์เมื่อมาตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือนหรือ 1 ปีได้ และสามาถเอกซเรย์เช็คได้

Q : เมื่อมีฟันคุด จำเป็นต้องผ่า หรือถอนออกหรือไม่ 
A  : จำเป็น เมื่อฟันคุดเริ่มก่อปัญหา* หรือผลเอกซเรย์ แสดงตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุ เหงือกอักเสบ อาจเกิดถุงน้ำในกระดูกขากรรไกรได้ ทั้งนี้ ฟันคุดบางซี่อาจจะไม่จำเป็นต้องเอาออก ขึ้นกับดุลยพินิจของทันตแพทย์ 
*ปัญหาที่เกิดจากฟันคุด เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบทั้งสุขภาพในช่องปากรวมไปถึงสุขภาพกายที่สร้างความลำบากในการรับประทานอาหาร 

                                           

Q: มียาหรือวิตามินที่ห้ามกินก่อนไปผ่าฟันคุดหรือไม่ 
A : จะเป็นบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยนั้น จพต้องแจ้งรายละเอียดกับทันตแพทย์ผู้รักษาตามจริง เพื่อการรักษาที่ไม่เป็นอันตราย

Q : ห้ามบ้วนเลือดหลังผ่าฟันคุด จริงหรือไม่ 
A : จริง หลังจากผ่าฟันคุด  ไม่ควรบ้วนเลือดหรือน้ำลาย เพราะจะทำให้ลิ่มเลือดไม่แข็งตัว และเลือดอาจจะไหลไม่หยุดได้

                                             

Q : มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ที่ควรระวังก่อนไปผ่าฟันคุด 
A : กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก อาทิ โรคเกล็ดเลือดต่ำหรือโรคลิวคีเมีย  โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด กลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยาสเตียรอยด์ โรคลมชักและโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานเพราะมีผลกระทบทำให้แผลหายยาก

Q : ผ่าฟันคุด ห้ามกินอะไร แล้วกินอะไรได้บ้าง 
A : หลังผ่าฟันคุด ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแข็ง ๆ ที่ต้องใช้การเคี้ยวมากๆ และควรใช้ฟันข้างที่ไม่มีแผลผ่าตัดในการเคี้ยว รวมถึงอาหารรสเผ็ดจัด หรือ ร้อนจัดในกรณีที่มีการผ่าตัดฟันคุดที่ซึ่งมีการเย็บแผลร่วมด้วย คนไข้ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ เป็นต้น อย่างต่ำ 7 วันค่ะ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พวกนี้จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดตรงปากแผลหยุดช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้าลงค่ะ 

                                                       
ท่านสามารถป้องกันอันตรายจากฟันคุดได้ เพียงแค่ท่านไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและเอกซเรย์ฟันก็จะทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยผ่าฟันคุดออกเสียก่อนที่จะมีอาการปวดบวม หรือทำให้ฟันข้างเคียงมีปัญหา การผ่าตัดในช่วงที่อายุยังน้อย (18 – 25 ปี) สามารถทำได้ง่าย แผลหายเร็วและผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดก็ต่ำ เพราะฉะนั้นมีฟันคุดแล้วอย่ารั้งรอ รีบผ่าตัดออกเสียแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่เกิดผลเสียในภายหลังนะคะ

                                                         


Recent Posts

^